Finance

เงินทุนหมุนเวียน คืออะไร และมีอะไรบ้างที่คนทำธุรกิจควรรู้

หลาย ๆ คนที่กำลังเริ่มต้นทำธุรกิจ นอกจากบางคนจะมองหาแหล่งเงินกู้อย่างสินเชื่อของสถาบันการเงินต่าง ๆ แล้วนั้น ยังมีสิ่งสำคัญอีกหนึ่งอย่างที่คนทำธุรกิจควรรู้ นั่นก็คือ การมีเงินทุนหมุนเวียนเพื่อช่วยรักษาสภาพคล่องทางการเงินของธุรกิจของคุณ หรือเรียกให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ เงินสำรองนั่นเอง ซึ่งเงินสำรองหรือเงินทุนหมุนเวียนนี้ มีส่วนจำเป็นอย่างมากต่อการทำธุรกิจ เงินทุนหมุนเวียนคืออะไร และมีอะไรที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจบ้าง มาดูกัน

เงินทุนหมุนเวียน คืออะไร

เงินทุนหมุนเวียน (Working Capital) คือ เงินทุนที่กิจการต้องมีสำรองไว้ใช้ในการหมุนเวียนเพื่อทำธุรกิจ สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่าง ๆ ก่อนที่เราจะได้รับเงินสดจากกิจการของเรา เช่น ค่าใช้จ่ายในการซื้อวัตถุดิบ ค่าจ้างพนักงาน ค่าเช่าสถานที่ รวมถึงค่าชำระหนี้เงินกู้ ที่เราควรจะต้องมีสำรองไว้ใช้ เพื่อไม่ให้ธุรกิจของเราสะดุด และเพื่อให้กิจการสามารถขายสินค้าและบริการได้บรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้

ขอบคุณบทความดี ๆ จาก

ข้อดีของเงินทุนหมุนเวียน

หากเราสามารถบริหารเงินทุนหมุนเวียนได้ ก็จะทำให้ธุรกิจของเรามีเงินในการใช้จ่ายซื้อสินค้า หรือนำไปชำระหนี้ต่าง ๆ ได้ตรงตามเวลา และยังทำให้ธุรกิจมีสภาพคล่องเกิดขึ้นอีกด้วย เพราะฉะนั้น เงินทุนหมุนเวียนจึงเป็นเงินในส่วนที่มีความสำคัญอย่างมากในการทำธุรกิจ

การบริหารเงินทุนหมุนเวียน

การบริหารเงินทุนหมุนเวียน ถ้าเราทำได้ดีก็จะทำให้ธุรกิจราบรื่น โดยหลักการง่าย ๆ ในการบริหารก็คือการจัดการด้านการขายสินค้า รวมถึงการบริหารลูกหนี้การค้า และเจ้าหนี้การค้า ให้รายรับที่เข้ามามีความสมดุลกับต้นทุน หรือการมีสินทรัพย์หมุนเวียนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งการบริหารจัดการนี้สามารถทำได้หลายวิธี ได้แก่

  1. ขายสินค้าให้อยู่ในรูปแบบเงินสด

เนื่องจากการขายสินค้าให้เป็นเงินสดกลับมานั้น จะช่วยให้เรามีรายได้ไว้ใช้ในการดำเนินธุรกิจต่อไปมากกว่าการให้เครดิต ที่เสี่ยงต่อการที่เงินทุนหมุนเวียนจะสะดุด เพราะการให้เครดิตกับลูกหนี้การค้า อาจทำให้มีความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้ ยกเว้นแต่ว่า จะเป็นคู่ค้าที่เชื่อใจได้ ไม่มีประวัติผิดชำระหนี้ และทำธุรกิจต่อกันมานาน เพราะการให้เครดิตกับลูกค้าก็เป็นการสร้างแรงจูงใจในการซื้อขายเช่นเดียวกันแต่ต้องเลือกให้ดีว่าธุรกิจของเรานั้น สามารถให้เครดิตกับคู่ค้าได้มากน้อยแค่ไหน ที่จะไม่ทำให้ธุรกิจของเราขาดเงินทุนหมุนเวียนจนติดขัด

  1. ขอเครดิตการค้าจากคู่ค้า

เราสามารถขอเครดิตจากคู่ค้าของเราได้เช่นกัน เพื่อที่จะยังไม่ต้องเอาเงินในธุรกิจออกไปใช้ แต่เก็บไว้เป็นเงินทุนหมุนเวียน จะได้มีเวลาในการบริหารกระแสเงินสด แต่เมื่อเรากลายมาเป็นลูกหนี้แล้วนั้น ก็อย่าลืมมีวินัยในการชำระหนี้เพื่อรักษาเครดิตของเราเองด้วย

  1. ขอสินเชื่อแฟคตอริ่งเพื่อรักษาสภาพคล่อง

สินเชื่อแฟคตอริ่งคือการซื้อขายหนี้การค้า เช่น ใบสั่งซื้อสินค้า ใบแจ้งหนี้ค้างชำระ ใบวางบิล โดยสถาบันการเงินที่รับซื้อเอกสารการเงิน จะจ่ายเงินให้เราก่อนสูงสุด 90% ของมูลค่าใบแจ้งหนี้ที่มีเครดิตเทอม 30-180 วัน และจ่ายส่วนที่เหลือจากการหักค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ยแล้ว คืนให้เราหลังจากที่เก็บเงินจากลูกหนี้การค้าได้ ซึ่งสินเชื่อแฟคตอริ่งนี้ จะช่วยให้เรามีเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการต่อไป แต่ต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าเสียก่อน เพราะสินเชื่อประเภทนี้มีอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมที่อาจจะกระทบต่อรายได้ของธุรกิจเราได้ดังนั้น ควรพิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อนยื่นเรื่องกู้

  1. ควรมีสินทรัพย์หมุนเวียน และหนี้สินหมุนเวียนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมสินทรัพย์หมุนเวียน คือ สินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงและสามารถแปรเปลี่ยนไปเป็นเงินสดได้ภายในระยะเวลา 1 ปีอันได้แก่ เงินสด เงินฝากธนาคาร สินค้าคงเหลือ ลูกหนี้การค้า และค่าใช้จ่ายล่วงหน้า ส่วนหนี้สินหมุนเวียน คือ หนี้สินที่มีระยะเวลาในการชำระคืนภายใน 1 ปีหรือภายในรอบระยะเวลาตามกำหนดของบริษัท ด้วยสินทรัพย์หมุนเวียนหรือหนี้สินระยะสั้น เช่น เงินเบิกเกินบัญชีธนาคาร หรือ เงินกู้ยืมระยะสั้น การที่เราบริหารสินทรัพย์หมุนเวียนและหนี้สินหมุนเวียนให้มีสภาพสมดุลกันนั้น ก็เพื่อให้ธุรกิจของเรามีสภาพคล่องยิ่งขึ้น

สรุปได้ว่า เงินทุนหมุนเวียนนั้น มีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจเป็นอย่างมาก ตัวผู้ประกอบการเองจึงจะต้องมีทักษะและความรู้ในการบริหารเงินทุนหมุนเวียนนี้ให้เพียงพอต่อการชำระค่าสินค้าหรือหนี้สินต่าง ๆ เพื่อที่จะได้บริหารกิจการให้ดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น ทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงในด้านการเงินของธุรกิจเราได้อีกด้วย